พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินทปัญโญ)

Buddhadasa-1พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินทปัญโญ) วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสวนโมกขพลารามเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถาน ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีปรากฏอยู่มากมายทั้งในรูปพระธรรม เทศนา และในงานเขียน โดยท่านตั้งใจทำการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่ในฐานะที่เป็นพุทธะศาสนาอย่าง แท้จริง นั่นคือเป็นศาสนาแห่งความรู้ ไม่เจือปนไปด้วยความหลงผิดที่เข้าแทรกจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่คอยกัดกิน ได้แก่ เรื่อง พุทธพาณิชย์, ไสยศาสตร์ และเรื่องความหลงใหลในลาภยศของพระสงฆ์ ฯลฯ อีกทั้งคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้ถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไป สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ โดยที่ยังคงเนื้อหาสำคัญไว้ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งคำสอนของท่านยังรวมไปถึงเรื่องทั่วๆ ไปด้วย เช่น การทำงาน, การเรียน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตประจำวัน

Buddhadasa-2ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือฉายาก่อนหน้านี้ว่า อินทปัญโญ แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ ก่อนบวชท่านมีชื่อว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2449 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรชายคนโตของนายเซี้ยง และนางเคลื่อน มีน้องสองคน ผู้ชายชื่อ ยี่เก้ย ผู้หญิงชื่อ กิมซ้อย
บิดาของท่านประกอบอาชีพค้าขายเฉกเช่นที่ชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วไปนิยมทำกัน ส่วนอิทธิพลที่ได้รับมานั่นก็คือ ความสามารถทางด้านกวี และทางด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกของบิดา ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือความสนใจในการศึกษาธรรมะ ส่วนทางด้านการเล่าเรียนนั้นท่านต้องออกจากโรงเรียนตอน ม.3 เพื่อมาช่วยมารดาค้าขาย หลังจากที่บิดาของท่านถึงแก่กรรม

Buddhadasa-3พออายุได้ 20 ปี ก็ได้บวชเป็นพระตามคตินิยมของชายไทย ที่วัดโพธารามโดยได้รับฉายาว่า “อินทปัญโญ” เดิมท่านตั้งใจจะบวชเพียง 3 เดือน แต่ด้วยความชอบที่จะศึกษาและเทศน์แสดงธรรมทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่าครั้งหนึ่งท่านเจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านว่า มีความเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า “ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ ให้มากที่สุด” และยังกล่าวต่อไปอีกว่า “แต่ถ้ายี่เก้ยจะบวช ผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย” ท่านเจ้าคณะอำเภอจึงไปคุยกับโยมแม่ของท่านว่าควรให้ท่านบวชเป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ย น้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือเป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ก็เรียบง่าย ตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา ยี่เก้ยก็เลยไม่ได้บวชให้พี่ชายบวชแทนมาตลอด ซึ่งต่อมายี่เก้ยก็คือ “ท่านธรรมทาส” ฆราวาสผู้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสวนโมกขพลา ราม

Buddhadasa-4หลังจากนั้นท่านได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่ กรุงเทพฯ จนสอบได้นักธรรมเอก ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และยังค้นคว้าออกไปจากตำราถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่ พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือตามระเบียบแบบแผนมากเกิน ไป รวมถึงความหย่อนยานในพระวินัยของสงฆ์ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของ พุทธศาสนิกชนในขณะนั้น ซึ่งท่านมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันในเวลานั้นคลาดเคลื่อนไปจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ เดินทางกลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อ โดยร่วมกับยี่เก้ย ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส และยังมีคณะธรรมทานในการช่วยจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม “สวนโมกขพลาราม” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ต่อมาก็ได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน
ท่านได้รับสมณศักดิ์สูงสุดเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมโกศาจารย์ เมื่อปี 2520 ส่วนในระดับนานาชาตินั้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากล ในหลายประเทศล้วนศึกษางานของท่าน มีหนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน อินโดนีเซีย กว่า 20 เล่ม จากต้นฉบับภาษาไทยทั้งหมด 140 เล่ม
ท่านพุทธทาสได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริรวมอายุได้ 87 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่าน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา

— «ยูเนสโก» ยกย่อง «ท่านพุทธทาส» 1 ใน 63 บุคคลสำคัญของโลก

การประชุมสมัยสามัญองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยู เนสโก) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 พิจารณาการยกย่องเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญ หรือผู้มีผลงานดีเด่นและเหตุการณ์สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ ประจำปี 2549-2550 รวม 63 คน/สถาบัน รวมถึงท่านพุทธทาสภิกขุ ถือได้ว่าท่านเป็นคนไทยคนที่ 18 ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ผลงาน และหลักธรรมคำสอน
— ปณิธานในชีวิต

โดยท่านมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนก็คือ เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมด และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือต้องการให้คนหลุดพ้นจากความทุกข์ ท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ 3 ข้อ คือ
— ให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน
— ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
— ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

ซึ่งก็มีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับท่าน หาว่าท่านจาบจ้วงพระพุทธศาสนาหรือรับจ้างคนคริสต์มาทำลายล้างพระพุทธศาสนา แต่ผลจากการอุทิศชีวิตถวายแด่พระศาสนาของท่าน ทำให้ท่านได้รับการนับถือจากพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยท่านพุทธทาสภิกขุมรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุได้ 87 ปี และเป็นพระทั้งหมด 67 พรรษา คงเหลือไว้ แต่ผลงานที่แทนตัวท่านให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาปณิธานของท่านต่อไป ดังบทประพันธ์ของท่านที่ว่า

— ผลงาน

ตลอดชีวิตของท่านพุทธทาสได้ ย้ำอยู่เสมอว่า «ธรรมะ คือ หน้าที่» ที่ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าผลงานที่ท่านได้สร้างสรรค์ไว้เพื่อเป็นมรดกทางธรรมนั้น จะมีมากมายสักปานใด ซึ่งมีผลงานหลักๆ ดังนี้
1. การจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรมสวนโมกขพลาราม และสวนโมกข์นานาชาติ
2. การร่วมกับคณะธรรมทานในการออกหนังสือพิมพ์ «พุทธสาสนา» ราย 3 เดือน ซึ่งนับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลารวมถึง 61 ปี และนับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย

3. การพิมพ์หนังสือ ชุด «ธรรมโฆษณ์» ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมจากปาฐกถาธรรมที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่างๆ และงานหนังสือเล่มอื่นๆ ของท่าน แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ
o หมวด «จากพระโอษฐ์» เป็นเรื่องที่ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีโดยตรง
o หมวด «ปกรณ์พิเศษ» เป็นคำอธิบายข้อธรรมะที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติ
o หมวด «ธรรมเทศนา» เป็นคำบรรยายแบบเทศนาในเทศกาลต่างๆ
o หมวด «ชุมนุมธรรมบรรยาย» เป็นคำขยายความข้อธรรมะเพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง
o หมวด «ปกิณกะ» เป็นการอธิบายข้อธรรมะเบ็ดเตล็ดต่างๆ

4. การปาฐกถาธรรมของท่านก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่วิธีการ และการตีความพระพุทธศาสนา ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนกลับมาสนใจธรรมะมากขึ้น ครั้งที่สำคัญๆ ได้แก่ การปาฐกถาธรรมเรื่อง «ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม», «อภิธรรมคืออะไร», «ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร», «จิตว่างหรือสุญญตา», «นิพพาน», «การทำงานคือการปฏิบัติธรรม» และ «การศึกษาสุนัขหางด้วน» เป็นต้น
5. งานประพันธ์ของท่านเอง เช่น «ตามรอยพระอรหันต์», «ชุมนุมเรื่องสั้น», «ชุมนุมเรื่องยาว», «ชุมนุมข้อคิดอิสระ», «บทประพันธ์ของสิริวยาส» (เป็นนามปากกาที่ท่านใช้ในการเขียนกวีนิพนธ์)
6. งานแปลจากภาษาอังกฤษของท่านเล่มสำคัญคือ «สูตรของเว่ยหล่าง» และ «คำสอนของฮวงโป» ทั้งสองเล่มเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น

— หัวข้อธรรมในคำกลอน

เรื่องรสคำประพันธ์นั้น ท่านพุทธทาสเขียนไว้ใน “มุ่งธรรมรส-งดกวี” ว่า รสคำประพันธ์อาจไม่จำเป็นต้องไพเราะ อ่อนช้อยในเชิงกวี แต่ต้องให้แสดงธรรมะได้แจ่มชัด ใช้ชุบชูจิตใจผู้อ่าน เน้นสาระในรสธรรมมากกว่ารสคำกวี
ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเล่าถึงที่มาของบทกวีธรรมะของท่านพุทธทาส ว่า “เมื่อท่านมีความคิดอะไรแวบขึ้นมาหรือเห็นประเด็น เหตุการณ์ที่น่าสนใจ ท่านจะมีคำคม ๆ ขึ้นมาคำหนึ่ง แล้วเอามาบรรยายขยายความในการเทศน์ แล้วอีกไม่เกินสัปดาห์ท่านจะแต่งเป็นบทกลอน ธรรมะเรื่องหนึ่งท่านจะแต่งเป็นกลอน ๘-๑๒ วรรค ให้ใจความจบลงในนั้น” ต่อมางานชุดนี้ถูกรวบรวมนำมาตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ หัวข้อธรรมในคำกลอน (ฉบับสมบูรณ์) งานชิ้นสำคัญที่มักถูกนำมาพิมพ์ซ้ำบ่อยครั้งก็เช่น การงาน, มองแต่แง่ดีเถิด, อาจารย์ไก่, ตายก่อนตาย, พุทธทาสจักไม่ตาย

Buddhadasa-9 Buddhadasa-5 Buddhadasa-7 Buddhadasa-8